ญี่ปุ่นเริ่มทดลองรักษาโรคพาร์กินสันด้วยการฉีดยีนเข้าสู่สมองผู้ป่วยโดยตรง

ทีมวิจัยจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยการแพทย์จิจิ (Jichi Medical University Hospital) ได้เริ่มการทดลองรักษาโรคพาร์กินสันด้วยการฉีดยีนเข้าสู่สมองผู้ป่วยโดยตรงเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้นในระยะยาว
โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมองที่ทำหน้าที่ผลิตสารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) ส่งผลให้การเคลื่อนไหวเกิดความผิดปกติ เช่น อาการสั่น เกร็ง เคลื่อนไหวช้า เป็นต้น
ปัจจุบันโรคพาร์กินสันเป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และหากปล่อยไว้จะยิ่งส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่สามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการหรือชะลอความรุนแรงลงได้
วันที่ 17 ตุลาคม ทีมวิจัยได้เริ่มการทดลองฉีดยีนเข้าสู่สมองผู้ป่วยโรคพาร์กินสันซึ่งเป็นชายวัย 50 กว่าปีโดยตรง เพื่อกระตุ้นให้สมองเกิดการหลั่งสารสื่อประสาทโดปามีน โดยการใช้ไวรัสที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ส่งยีนไปยังตำแหน่งเป้าหมาย
ทางทีมวิจัยมีแผนทดลองทางคลินิกกับผู้ป่วย 12 คน โดยจะฉีดยีนให้กับผู้ป่วยเดือนละคน และคอยสังเกตอาการแต่ละคนเป็นเวลา 6 เดือน หากยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้แล้วก็จะยื่นขออนุมัติในฐานะแนวทางการรักษาแบบใหม่
กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่า ปัจจุบันมีป่วยโรคพาร์กินสันในญี่ปุ่นมากกว่า 140,000 คน
ที่มา : https://www3.nhk.or.jp/news/html/20221017/k10013861951000.html